Matt Leacock อดีตนักพัฒนาโซเชียลมีเดียของบริษัท AOL และ Yahoo ผู้ผันตัวมาเป็นนักออกแบบบอร์ดเกม หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเขา คือ Pandemic หรือเกมโรคระบาด ที่ค่าย Z-Man Games ปล่อยออกมาให้เล่นในปี 2008
Pandemic เป็นเกมที่ผู้เล่นจะต้องช่วยกันต่อสู้เพื่อหยุดยั้งไวรัสก่อนที่มันจะระบาดไปทั่วโลก Matt ออกแบบให้เกมเต็มด้วยความท้าทาย และกระตุ้นต่อมความอยากเอาชนะเชื้อโรคตัวร้ายของผู้เล่น ทำให้ภาคแรกที่ปล่อยออกมานั้นประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม และมีภาคอื่นๆ ตามออกมาอีกมากมายจนกลายเป็นเกมซีรี่ส์
แต่ละภาคยังคงคอนเซ็ปต์โรคระบาดเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือลูกเล่นสนุกๆ ไม่ว่าจะเป็น Pandemic : Iberia ที่เราต้องต่อสู้กับเชื้อโรคในยุคที่ปราศจากยาหรือขนส่งที่ทันสมัยหรือ Pandemic Contagion ที่เปลี่ยนให้เรากลายเป็นเชื้อไวรัสเสียเอง
เกมนี้สามารถเล่นได้ 1-4 คน ใช้เวลาเล่นแต่ละรอบราว 45 นาที โดยที่แต่ละคนจะได้สวมบทบาทแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น นักวางแผนฉุกเฉิน (contingency planner) ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิบัติการ (peration expert) ผู้จัดการกำลังพล (dispatcher) ผู้เชี่ยวชาญควบคุมโรคระบาด (quarantine specialist) นักวิจัย (researcher) แพทย์สนาม (medic) และนักวิทยาศาสตร์ (scientist) ซึ่งแต่ละอาชีพนั้นมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัว จุดเด่นและจุดอ่อนของตัวเอง
ภารกิจของผู้เล่นแต่ละคนคือต้องพยายามไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดไปยังเมืองต่างๆ ได้ โดยทุกคนจะต้องร่วมมือกันคิดค้นยารักษาโรคให้ได้ 4 ชนิด ถ้าทำได้ จะถือว่าชนะเกม แต่หากโรคระบาดนั้นลุกลามไปเรื่อยๆ จนต้านทานไม่ไหว ผู้เล่นหายารักษาไม่ทัน เกมก็จะจบลงทันที
แม้วิธีการเดินเกมจะไม่ซับซ้อน แต่ก็ต้องอาศัยการวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบและการทำงานเป็นทีม ในแต่ละตานั้นผู้เล่นสามารถเลือกทำแอคชั่นได้ ไม่ว่าจะเป็นเดินทางข้ามเมือง สร้างสถานีวิจัย รักษาโรค ฯลฯ ซึ่งการกระทำของแต่ละคนย่อมส่งผลกับทิศทางของเกม ทุกคนจึงจำเป็นต้องสื่อสารกันตลอดเวลาเพื่อให้สามารถเอาชนะเชื้อโรคได้
ความสนุกของบอร์ดเกมอื่นๆ อาจเป็นการเอาชนะเพื่อนๆ แต่ความสนุกของ Pandemic คือ ‘การทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์ก’
Pandemic เป็นเกมที่ฝึกให้เราใช้ทักษะ ‘วางแผน’ และ ‘สื่อสาร’ ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งหากมองเกมกระดานเป็นโลกของเราในตอนนี้แล้ว นั่นถือเป็นทักษะจำเป็นที่เราควรจะต้องมีเพื่อให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้เป็นอย่างดี เมื่อเกมจบลง ไม่ว่าผู้เล่นค้นพบยาทุกชนิด หรือไวรัสจะระบาดจนต้านทานไม่ไหว สิ่งที่แน่นอนคือไม่ว่าจะรอดหรือจะร่วง พวกเขาก็ต้องเผชิญสิ่งเหล่านั้นไปด้วยกัน เมื่อเราต้องสู้กับสิ่งเดียวกัน คือ ‘ไวรัส’ นั่นหมายความว่าเราทุกคนกำลังอยู่ในทีมเดียวกัน
ในทางตรงกันข้าม หากผู้เล่นแต่ละคนเข้าใจในกฏกติกาไม่ตรงกัน มีความเห็นไม่ลงรอยกัน หรือไม่ร่วมมือและเชื่อใจกัน อาจทำให้การควบคุมโรคไม่อยู่ และระบาดไปทั่วโลก ทำให้เกมส์จบลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าพ่ายแพ้กันทั้งกระดาน ดังนั้นเกมส์นี้จึงไม่เหมาะสำหรับกลุ่มเพื่อนที่มักมีความเห็นไม่ตรงกันหรือคิดต่างกัน
แต่หากเราต้องการแผนรับมือที่ดี เราต้องสื่อสาร ทำความเข้าใจ ใช้ตรรกะความคิดไปในทิศทางเดียวกัน และมีเป้าหมายเดียวกัน สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เกิดทีมเวิร์ก เพราะการจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไป ไม่ได้หมายถึงการทำงานหนักของคนรักษาโรคอย่างทีมแพทย์เพียงอย่างเดียว
แต่ยังหมายถึงการให้ความร่วมมือป้องกันของทั้งรัฐและประชาชนทุกคนอีกด้วย.